บัญชีรายรับรายจ่าย ทั้งนี้ในการประกอบธุรกิจต่างๆไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็กจำเป็นต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้ทราบว่าธุรกิจมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และจะมีแนวทางการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อนำผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไปใช้วางแผนปรับปรุงในส่วนที่ยังอ่อนด้อยและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับส่วนที่โดดเด่น แต่การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะประกอบไปด้วยบัญชีของธุรกิจท่องเที่ยวต่างๆมากมาย เช่น ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจนำเที่ยวและธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ และยังเกี่ยวข้องกับผู้เยี่ยมเยือนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต่างก็มีพฤษติกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างหลากหลายกันไป ดังนั้นจึงจำเป็นพิเศษที่สามารถอธิบายและแสดงโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมได้ทั้งหมด ซึ่งบัญชีลักษณะนี้เราเรียกกันว่า บัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว {Tourism Satellite Accounts (TSA)}
บัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวนี้ได้รับการรับรองให้เป็นระบบบัญชีมาตรฐานสากลจากองค์การสหประชาชาตินับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยตรงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและเปรียบเทียบศักยภาพด้านการท่องเที่ยวกับนานาประเทศได้ ในปัจจุบันบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวถูกนำประยุกต์ใช้งานในหลายประเทศที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศในยุโรป เป็นต้น
หากประเทศไทยมีบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวก็จะช่วยทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เข้าใจถึงโครงสร้างและสถานการณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ช่วยทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทย อุปสงค์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการท่องเที่ยวในต่างประเทศ อุปทานของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในสาขาต่างๆ การลงทุนในด้านการท่องเที่ยวของภาคเอกชนและภาครัฐ การใช้จ่ายสาธารณะในด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
หากมองเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์แล้ว บัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวจะช่วยทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสามารถมองไปไกลถึงการสร้างรายรับจากการท่องเที่ยวมากกว่าเพิ่มเพียงจำนวนนักท่องเที่ยว และมองไปไกลถึงการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะลงไปสู่ภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ จนกระทั่งตกลงสู่ธุรกิจและแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย นอกจากนี้บัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวจะช่วยทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสามารถพิจารณาแนวทางการกระตุ้นการเติบโตและการพัฒนาการท่องเที่ยวในด้านอุปสงค์และอุปทานท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน โดยจะคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผลผลิต ผลกระทบที่มีต่อรายได้และผลกระทบที่มีต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด จนถึงระดับธุรกิจท่องเที่ยวในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้อง
สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวประกอบด้วย 12 สาขาหลัก ตามคำแนะนำของ TSA: RMF 2008 มีดังนี้
1) ธุรกิจบริการที่พักสำหรับผู้เยี่ยมเยือน
2) ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม
3) ธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟ
4) ธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสารทางรถยนต์
5) ธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสารทางเรือ
6) ธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสารทางเครื่องบิน
7) ธุรกิจบริการอุปกรณ์เดินทางและท่องเที่ยว
8) ธุรกิจบริการนำเที่ยวและบริการจอง
9) ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
10) ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและนันทนาการ
11) ธุรกิจของฝากและของที่ระลึก
12) ธุรกิจบริการท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจสอนทำอาหาร และธุรกิจสอนมวยไทย เป็นต้น